Multitasking…ระวัง !!! สมองพังไม่รู้ตัว
‘Multitasking’ คำที่หลายคนคุ้ยเคย หนึ่งในทักษะสำคัญที่องค์กรคาดหวัง และมักปรากฏในประกาศงาน เพื่อให้ผู้สมัครประเมินตัวเองว่า “คุณสามารถทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกันหรือไม่”
.
Multitasking คือ ความสามารถทำงานต่าง ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน หรือทำไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ทุกอย่างแข่งขันกับเวลา การจ้างงานบุคลากรหลายตำแหน่งในหลายหน้าที่ อาจไม่ตอบโจทย์การบริหารทรัพยากรบุคคลในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ทักษะนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในความคาดหวังที่องค์กรต้องการจากตัวบุคลากร
.
อย่างไรก็ตาม การทำงานแบบ Multitasking Skill อาจไม่ช่วยให้องค์กรพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นตามที่หวังไว้ แต่อาจกลายเป็นเพิ่มงบประมาณและเพิ่มภาระให้กับองค์กรได้
.
บางคนทำงานแบบ Multitasking ได้ดี อาจเพราะเกิดจากความชำนาญส่วนตัว บางคนทีระบบจัดการความคิดที่ดี สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานได้ และมีการประมวลผลอย่างเป็นระบบ ทำให้สามาถทำงานหลายอย่างไปพร้อม ๆ กันได้จนสำเร็จ และสำเร็จอย่างดีด้วย เพราะบางคนทำงานหลายอย่างให้เสร็จพร้อมกันได้ แต่งานที่ออกมาใช้ไม่ได้เลย…ก็มี
.
Multitasking ไม่ได้เหมาะกับทุกคน
เพราะสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้ประมวลผลอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ต่างกับคอมพิวเตอร์ ที่สามารถประมวลผลจากข้อมูลจำนวนมาก และทำได้ในเวลาเดียวกัน สมองของมนุษย์รองรับการโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อเราทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะลดลง อาจจะเกิดอาการ มึน งง เบลอ ไปต่อไม่ถูก…”เมื่อกี้เราจะทำอะไรนะ เราทำอะไรค้างไว้นะ” ยิ่งเมื่อมีการถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อมเพิ่ม เช่น กำลังส่งอีเมลให้ลูกค้าในขณะที่ต้องฟังการประชุมไปด้วย อยู่ดี ๆ ก็มีโทรศัพท์เข้ามาให้จัดการปัญหาบางอย่าง โอ้ยยย….หัวจะปวดเลยใช่ไหมคะ ที่สำคัญไปกว่านั้น การเปลี่ยนสิ่งที่โฟกัสอยู่ สลับไปสลับมานั้น อาจทำให้เกิดภาวะ ‘สมาธิสั้น’ ได้ด้วย
.
สมองรวน อารมณ์แปรปรวน IQ ลดลง !!!
งานวิจัยจากหลายที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับทำงานแบบ Multitasking ไม่ว่าจะเป็น Stanford University หรือ University of Sussex พบว่า การทำงานแบบ Multitasking มีผล(เสีย)กระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ การทำงานหลายอย่างมีประสิทธิผลน้อยกว่าการทำสิ่งเดียวในแต่ละครั้งเสียอีก
.
การที่เราพยายามโฟกัสงานที่ละหลายชิ้น ในขณะที่สมองไม่สามารถทำได้(ดี) เมื่อไม่สามารถโฟกัสงานใดงานหนึ่งให้ดีได้แล้ว ผลที่ออกมาก็จะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง การจัดระบบความคิดที่ถูกรบกวนจากกลายเปลี่ยนโฟกัสไปมาก็จะแย่ลง งานเสร็จช้าลง สมองรวน อารมณ์แปรปรวนจากความหงุดหงิด งานนั้นก็ไม่ดี งานนี้ก็ไม่เสร็จ ต่างกับการที่โฟกัสงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งจนสำเร็จไปทีละงาน ๆ โดยจัดลำดับความสำคัญของงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานจะดีกว่าหลายเท่าเลยหละ
.
เมื่อมนุษย์ตั้งสมาธิจดจ่ออยู่กับบางสิ่ง สมองส่วน prefrontal cortex ซึ่งอยู่หน้าสุดจะทำหน้าที่ร่วมกันทั้งสองฝั่ง เหมือนที่ถีบจักรยานที่ช่วยกันหมุนล้อไปข้างหน้า แต่เมื่อเราทำหลายอย่างพร้อมกันสมองส่วนนี้จะทำงานแยกฝั่งกัน ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเราจะต้องใช้เวลามากขึ้นในการทำทุกสิ่งให้เสร็จ ผลการวิจัยในปี 2001 โดย Joshua Rubinstein, Jeffrey Evans และ David Meyer สรุปว่า เมื่อเราทำหลายอย่างพร้อมกัน เราจะใช้เวลามากกว่าการทำงานทีละอย่างมากถึง 40 % เลยทีเดียว
.
แถมด้วย Multitasking ยังทำให้ระดับ IQ ลดลงได้ถึง 15 จุด เทียบเท่ากับการสูบกัญชา หรือการอดนอนมาทั้งคืน เพราะสมองของคนเราทำงานได้ดีกว่าหากมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง Multitasking มีผลต่อความหนาแน่นของเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่ควบคุมการหยั่งรู้เข้าใจความรู้สึก และการควบคุมอารมณ์ของตนเองด้วย
.
อย่างไรก็ตาม Multitasking Skill อาจเหมาะและไม่เหมาะกับสายงานบางประเภท เช่น คนที่ทำงานเลขานุการ ที่ต้องคอยจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาได้ทุกเมื่อ แม้แต่แพทย์พยาบาลที่ต้องสลับโฟกัสคนไข้ที่ไม่สามารถรอคอยการรักษาในห้องฉุกเฉิน อาจจำเป็นต้องใช้ Multitasking Skill ทำหลายอย่างไปพร้อมกัน ในขณะที่ Programmer หรือนักเขียน จะต้องใช้สมาธิอย่างมากในการทำงานหลักของตัวเองให้เสร็จ ดังนั้นการทำงานหลายอย่างพร้อมกันหรือปล่อยให้สิ่งเร้ามารบกวนจะไม่ดีนัก
.
การจัดลำดับความสำคัญ (Prioritisation) เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้งานอันท่วมท้นของคุณ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จากข้างต้นที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า Multitasking อาจไม่ได้ตอบโจทย์การช่วยจัดการปัญหางานล้นมือ แต่อาจทำให้แย่ลงไปอีก การจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งโดยจัดลำดับความสำคัญ ทำไปที่ละงาน จะช่วยคุมเวลาและคุณภาพของชิ้นงานได้ดีขึ้นด้วย
.
References :
https://adecco.co.th/th/knowledge-center/detail/multitasking
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/889817
https://adaymagazine.com/multi-tasking-science/
Related Content :