Permanent Recruitment Outsource…แบบไหนดีกว่ากัน?
ช่วงใกล้ ๆ สิ้นปีแบบนี้ หลายคนอาจจะกำลังมองหางานใหม่ ประกอบกับผ่านพ้นช่วง Covid หนัก ๆ กันมาได้แล้ว เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว องค์กรต่าง ๆ กำลังมองหาคนมีความสามารถเข้าไปช่วยขับเคลื่อนองค์กรที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันในปี 2565 ตำแหน่งงานที่แต่ละท่านได้รับข้อเสนอนั้นก็แตกต่างกันไป บางครั้งก็เป็นตำแหน่งงานประจำ (Permanent Recruitment) ที่ทำไปได้ยาว ๆ บางครั้งก็เป็นตำแหน่ง Outsource/Contract ระยะสั้นหรือยาวก็ขึ้นอยู่กับองค์กรต้องการคนทำงานส่วนนี้นานแค่ไหน แต่บางครั้งเราก็ได้รับข้อเสนอตำแหน่งงาน 2 รูปแบบพร้อมกันเลยนี่สิ…จะเลือกงานแบบไหนดีนะ?
.
Permanent Recruitment
Permanent Recruitment เรียกง่าย ๆ ว่า ‘พนักงานประจำ’ ก็คือพนักงานที่ทำงานให้องค์กรแบบเต็มเวลา ไม่มีการระบุระยะเวลาจ้างไว้ในสัญญา สวัสดิการได้ครบ มีโบนัส มีการปรับเงินเดือน แต่อาจจะต้องทำงานจุกจิกนอกเหนือจากงานที่ระบุไว้ใน Job Description และอาจต้องทำงานล่วงเวลาโดยมีค่าล่วงเวลา (OT) หรืออาจไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของบริษัท
.
แล้ว Outsource หละ?
Outsource หรือ พนักงานสัญญาจ้าง เป็นการว่าจ้างบริษัทหรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้ามาทำงานในองค์กร อาจเป็นสัญญาแบบรายวัน รายเดือน หรือรายปี จบงานเป็น Project ไป และยังแบ่งย่อยเป็นแบบ Outsource ที่มีองค์กรต้นสังกัด ส่งพนักงานไปนั่งประจำที่บริษัทลูกค้า หรืออาจเป็นการจ้างตำแหน่ง Outsource โดยตรงจากองค์กรก็ได้เช่นกัน
.
ข้อดี VS ข้อเสีย ของการจ้างงานทั้ง 2 แบบ
ข้อดีของพนักงานประจำ คือ ค่าจ้าง ปรับเงินเดือนทุกปี มี Career Path ที่ชัดเจน สวัสดิการแบบ Full Option วันลาที่ถึงจะลาแต่ก็ได้ค่าจ้าง มีโบนัสให้ เงินที่ได้รับหลังเกษียณอายุ บางองค์กรอาจให้ค่าเดินทางและช่วยค่าที่พักอาศัยให้ด้วย ค่าตรวจสุขภาพ ประกัน บางองค์กรใจดีสนับสนุนทุนการศึกษาให้เผื่อพนักงานต้องการศึกษาต่อ หรือต้องการเข้าอบรมคอร์สเรียนต่าง ๆ
ขอเสียของพนักงานประจำ คือ การทำงานซ้ำ ๆ เดิม ๆ ทำให้ไม่มีความท้าทายและไม่มีแรงกระตุ้นในการทำงาน รวมถึงมีการวัดผลด้วย KPI เข้ามาเกี่ยวข้อง หากทำงานเกินเวลาก็อาจไม่มีค่า OT ให้ด้วยซ้ำ
.
ข้อดีของพนักงาน Outsource คือ ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าพนักงานประจำอย่างแน่นอนเพราะถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและต้องแบกรับความเสี่ยงในการหางานใหม่ช่วงหมดสัญญา แต่หากองค์กรต้นสังกัดสามารถหาตำแหน่งงานมารองรับหลังหมดสัญญากับที่เก่าได้ ก็สามารถตัดค่าเสียโอกาสตรงนี้ไปได้เช่นกัน รวมถึงลักษณะการทำงานที่เฉพาะด้านในสายงานนั้น ๆ การทำงานเดิม ๆ ลงลึกในรายละเอียด จะช่วยพัฒนาทักษะให้เชี่ยวชาญมากขึ้นได้ ยิ่งเจอ Project โหด ๆ แล้วละก็ ถ้าผ่านไปได้ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางหน้าที่การงานไม่น้อย และการผ่านงานมาหลาย ๆ ที่ ทำให้มี Connection เพิ่มขึ้นด้วยหละ
ข้อเสียของพนักงาน Outsource คือ Career Path ไม่ชัดเจน เพราะตำแหน่งงานเหล่านี้จะถูกหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จึงไม่อยู่ในโครงสร้างองค์กรที่ถูกกำหนดไว้ ความเสี่ยงก็เช่นกัน หากพนักงานคนใดทำงานได้ไม่ตรงตามเป้าหมายหรือความคาดหวังที่องค์กรผู้ว่าจ่างต้องการ ก็อาจถูกยกเลิกสัญญาและส่งกลับองค์กรต้นสังกัดได้ และที่สำคัญ หากพนักงานถูกจ้างเป็น Outsource โดยตรงจากองค์กร แม้จะได้เงินเดือนสูง แต่สวัสดิการนั้นอาจไม่มีเลย มีเพียงแค่วันสำหรับลาป่วยเท่านั้น (แต่ก็ยังมีบริษัท Outsource บางแห่งที่ให้สวัสดิการพนักงาน Outsource เท่าพนักงานประจำ) อีกหนึ่งเหตุผลที่สร้างความเจ็บจี๊ดในใจ คือ ถ้าไม่ถูกใจองค์กรหรือเพื่อมร่วมงานก็ต้องทนทำงานให้จบ ไม่ใช่จะย้ายไซต์งานกันได้ง่าย ๆ และต่อให้พนักงานชอบองค์กรและอยากทำงานที่นี่ต่อมากแค่ไหน ถ้าลูกค้าไม่ต่อสัญญาและเมื่อถึงเวลาต้องย้ายไซต์ก็ต้องมีการจากลาเกิดขึ้นบ่อย ๆ ทำให้ต้องปรับตัวมากกว่าพนักงานประจำอยู่มากทีเดียว
.
ทำไมองค์กรสมัยใหม่ นิยมจ้างงานแบบ Outsource
Outsource ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำงานในส่วนงานนั้น ๆ โดยเฉพาะบริษัทเล็ก ๆ พวก Start-up SME การจ้าง Outsource อาจตอบโจทย์องค์กรได้มาก เพราะได้คนที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ และช่วยลดต้นทุนในการจ้างงานระยะยาวได้ ไม่ต้องรับผิดชอบด้านสวัสดิการ ลดปัญหาด้านวินัย เช่น ขาด ลา มาสาย เพราะหากมีอะไรเกิดขึ้นก็สามารถแจ้งองค์กรต้นสังกัดได้ หากเกิดคาวมเสียหายก็ฟ้องร้องได้ แต่การจ้าง Outsource ผ่านต้นสังกัดก็จะมีค่าบริการ ดังนั้นบางองค์กรที่มี Connection เยอะ ก็จะจ้างพนักงานมาเป็น Outsource เองเลย
.
การจ้างงานแต่ละแบบก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป หากได้รับการเสนอตำแหน่งงาน 2 รูปแบบเข้ามาพร้อม ก็ต้องทำความเข้าใจความแตกต่างและลองชั่งน้ำหนักดูว่าแบบไหนเหมาะกับเรามากกว่า เงื่อนไขของแต่ละที่เป็นอย่างไร ขึ้นชื่อว่า ‘การทำงาน’ ก็เหนื่อยหมดแหละ แต่แบบไหนหละที่ถึงจะเหนื่อยแต่ยังอยากทำ ได้เงินเยอะใช่ว่าจะแฮปปี้กับการทำงานเสมอไป เงินน้อยกว่า แต่มีความสุขมากกว่า ไปทำงานด้วยพลังงานเต็มร้อย เลิกงานด้วยรอยยิ้ม คงดีต่อใจไม่น้อยเลยค่ะ
.
References :
https://palamike.com/know-before-become-outsource/#toc-2
Related Content :