PDPA ฉบับเข้าใจง่าย เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร?
เริ่มต้นที่ PDPA คืออะไร?
ขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งค่อนข้างจะละเอียดอ่อน เรามาทำความเข้าใจกันแบบคร่าว ๆ ก่อนว่าเจ้า พ.ร.บ. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปี 2562 หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) นั้นคืออะไร? และทำมาเพื่อบังคับใช้กับคนกลุ่มไหนเป็นหลัก
หัวใจสำคัญของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ฉบับนี้ ทำมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นสำคัญ เน้นควบคุมหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ที่จัดเก็บข้อมูลของเราไว้เป็นจำนวนมาก หลังจากนี้หน่วยงานไหนที่นำข้อมูลของเราไปใช้ เปิดเผย และ/หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย
PDPA เป็นประโยชน์ต่อใคร?
จากข้อมูลด้านบน จะเห็นได้ว่าตัวกฎหมาย PDPA มาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ บนโลกกลม ๆ ที่เต็มไปด้วย Data มหาศาล ทุกข้อมูลส่วนตัวของเราที่แต่ละบริษัทได้ไปนั้น ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าในเชิง Marketing เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการนำไปวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการค้า หรือนำข้อมูลของเราไปเพิ่มมูลค่าให้กลุ่มนายทุน ด้วยการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนกันในตลาด
ในทางกลับกัน สิ่งที่ประชาชนที่ตาดำ ๆ ได้รับกลับมา คือข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลโดยไม่ได้รับความยินยอม ทั้งยังต้องเจอกับเหล่าคอลเซนเตอร์ต่าง ๆ รุมโทรหาเสนอโปรโมชันต่าง ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน โดยทั้งหมดนั้นมาในรูปแบบของโฆษณาหรือล่อลวง
- PDPA เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เน้นควบคุมหน่วยงานรัฐและเอกชนเป็นหลัก
- ข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึงสิ่งที่บ่งบอกลักษณะตัวตนของเจ้าของข้อมูลดังกล่าวได้ อาจเป็นได้ทั้งเอกสาร ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ หนังสือ เช่น บัญชีธนาคาร ไอดีไลน์ ชื่อ ที่อยู่ บัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รูปถ่าย ประวัติสุขภาพ ลายนิ้วมือ เป็นต้น
- วางใจและเชื่อถือได้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA ของไทย มีต้นแบบมาจากกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปเกือบ 90%
PDPA เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเราอย่างไร?
ถึงแม้กฎหมาย PDPA ฉบับนี้จะออกมาเพื่อคุ้มครองประชาชนทั่วไป แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าบางส่วนของกฎหมายอาจจะกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือไม่ การถ่ายรูปต่าง ๆ ในสถานที่สาธารณะจำต้องเบลอบุคคลอื่นในภาพที่ไม่รู้จัก หรือต้องไปขออนุญาตให้เป็นเรื่องเป็นราวก่อนไหม มีอะไรต้องพึงระวังเป็นพิเศษมากขึ้นหรือไม่นั้น เราสรุปมาให้เรียบร้อยแล้ว!
- การถ่ายรูปบุคคลในครอบครัว เพื่อนฝูงยังทำได้ปกติ ลงโซเชียลมีเดียได้เหมือนเดิม กิจกรรมต่าง ๆ ยังคงทำต่อไปได้ หากทั้งหมดนั้นมุ่งเน้นเนื้อหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
- หากถ่ายรูป ถ่ายคลิปติดบุคคลอื่นโดยไม่เจตนา และไม่ก่อความเสียหายให้กับผู้ที่ถูกถ่าย “เป็นสิ่งที่ทำได้” โดยทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
- การโพสต์คลิปหรือภาพที่มีบุคคลอื่น ๆ ลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลในภาพ ถือว่า “ทำได้” ไม่ผิด PDPA
- การติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้าน หรือพื้นที่ส่วนตัว เพื่อรักษาความปลอดภัยของคนในบ้านและป้องกันการเกิดอาชญากรรม ยังคงทำได้
- กฎหมาย PDPA ฉบับนี้ไม่บังคับใช้กับ Personal use อย่างไรก็ตาม การแอบถ่ายผู้อื่น หรือเอาข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นไปเผยแพร่ ยังคงเอาผิดได้ตามกฎหมายอาญาหรือเข้าข่ายละเมิดทางแพ่งได้
เจตนาของการกระทำคือสิ่งสำคัญในทุกกฎหมาย
“ PDPA คือเรื่องของ 2 องค์ประกอบรวมกัน คือ ข้อมูลและการกระทำ เมื่อนำมารวมกันแล้ว สุดท้ายพิจารณาว่าเจตนาคืออะไร”
ขึ้นชื่อว่ากฎหมาย ทุกอย่างยังคงตีความตาม “เจตนา” เป็นหลัก เอาง่าย ๆ คือเราเก็บข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นไปเพื่ออะไร จุดประสงค์คือสิ่งสำคัญ กรณีที่เรามีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า แต่มีไว้เพื่อส่งของรางวัลไปให้หรือส่งเอกสาร ก็ถือว่าไม่ผิด PDPA แต่ถ้าบริษัทเริ่มนั้นข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผลเพื่อธุรกิจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล นั่นถึงเริ่มเข้าข่ายผิดกฎหมาย
นอกจากนี้เรื่องการรักษาข้อมูล (Security) ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน การได้ข้อมูลเหล่านั้นมา ทางองค์กรและภาครัฐต้องมั่นใจด้วยว่า จะรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังต้องไม่ให้รั่วไหล รวมถึงการถูกแก้ไขดัดแปลง
ข้อยกเว้น PDPA
การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม มีเจตนาบางส่วนที่ PDPA ละเว้นให้ และไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่จัดการข้อมูลต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องแจ้งกับบุคคลดังกล่าวว่าเก็บไปเพื่ออะไร รวมถึงต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญด้วย
- ทำตามสัญญา
- กฎหมายให้อำนาจ
- รักษาชีวิต และ/หรือ ร่างกายของบุคคล (การถ่ายภาพโจร หรือ การถ่ายคลิปทำร้ายร่างกาย เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นย่อมทำได้)
- ค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
- เพื่อประโยชน์สาธารณะ
- ปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของตน
จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ศ. 2562) หรือ PDPA ที่ออกมาล่าสุดนี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างเรามาก ๆ และจากข้อมูลที่ให้ไป กฎหมายดังกล่าวแทบจะไม่ได้กระทบกับการดำเนินชีวิตของเราแต่อย่างใด ยังคงถ่ายรูป อัปคลิปโซเชียลได้อย่างปกติ หากทั้งหมดนั้นมุ่งเน้นเนื้อหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
References : https://th.jobsdb.com/th-th/articles/know-pdpa-2022/