เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น…จะบริหารค่าตอบแทนให้พนักงานอย่างไร

เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น…จะบริหารค่าตอบแทนให้พนักงานอย่างไร

อัตรเงินเฟ้อทำให้อัตราค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น สินค้าจากต่างประเทศขึ้นราคาไม่หยุดหย่อน ทั้งน้ำมัน พลังงาน วัตถุดิบประกอบอาหาร หรือแม้แต่ไข่ไก่ ที่เป็นเมนูหลักของคนทั่วไป ก็ยังขึ้นราคา ทุกอย่างแพงขึ้น ในขณะที่เงินเดือนพนักงานเท่าเดิม…อะไรบ้างที่ผู้ประกอบการพอจะช่วยเหลือพนักงานผู้เป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญขององค์กรได้

.

พนักงานหลายคนก็คงพยายามหาวิธีในการปรับตัวแล้ว แต่ก็ยังใช้เงินแบบเดือนชนเดือน เรียกได้ว่า หากเงินเดือนออกช้าไปเพียง  2 วัน อาจทำให้ใช้ชีวิตติดขัดได้เลย การบริหารค่าตอบแทนให้พนักงานในช่วงค่าครองชีพสูงแบบนี้มีหลายวิธี แต่ละองค์กรต้องพิจารณาและวางแผนว่าวิธีใดเหมาะสมมากที่สุด

.

1. ปรับฐานเงินเดือนพนักงาน

การปรับฐานเงินเดือนพนักงานให้สูงขึ้น อาจต้องกำหนดว่า พนักงานกลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพสูงมากที่สุด ก็อาจจะปรับให้เฉพาะกลุ่มนั้นก่อน จากการสำรวจของบริษัท Think People Consulting ที่ปรึกษาด้านการบริหารค่าจ้างเงินเดือน พบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากที่สุดก็คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มพนักงานจบใหม่ ที่เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท

.

วิธีนี้ทำได้ง่าย เราสามารถกำหนดอัตราปรับให้เท่ากันทุกคนก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ การเพิ่มต้นทุนคงที่ในเรื่องเงินเดือนพนักงานขององค์กร คงต้องพิจารณาว่า เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นให้นี้จะไปกระทบกับอะไรบ้าง เช่น เงินสมทบประกันสังคม สมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การขึ้นเงินเดือนในปีถัดไป โบนัสตามผลงาน ฯลฯ

.

2. เพิ่มเงินค่าครองชีพอีกก้อนหนึ่งแยกจากเงินเดือน

เป็นอีกวิธีที่มีหลายบริษัททำกัน เราสามารถกำหนดเงินค่าครองชีพเพิ่มเติมให้กับพนักงาน โดยให้ทุกคนเท่ากัน และให้ประจำทุกเดือนไปเลย แยกจากเงินเดือนประจำ วิธีนี้ก็จะทำให้ฐานเงินเดือนพนักงานไม่สูงขึ้น ซี่งไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารค่าตอบแทนในด้านอื่น ๆ แต่ก็คงต้องพิจารณาอัตราค่าครองชีพที่ให้ และงบประมาณในภาพรวมว่าองค์กรจะต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้อีกเท่าไหร่

.

3. เพิ่มเงินค่าครองชีพ แต่ให้ชั่วคราว

เป็นการแก้ไขปัญหาในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ในกรณีที่เรามั่นใจว่าค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นการชั่วคราว จากนั้นก็น่าจะลดลงบ้างเล็กน้อย ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นมาก ๆ บริษัทก็สามารถให้เงินช่วยเหลือแก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบ

.

แต่เมื่อเป็นการให้ชั่วคราว บริษัทจะต้องเขียนข้อกำหนดในเรื่องนี้อย่างชัดเจน เช่น ให้ในอัตราเท่าไหร่ และจากเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่ สิ้นสุดระยะเวลาแล้ว ก็จะไม่ให้เงินก้อนนี้ต่อไป ดังนั้นเงินก้อนนี้ก็จะไม่ถือเป็นค่าจ้าง แต่เป็นเงินช่วยเหลือ คล้าย ๆ สวัสดิการพนักงานเท่านั้น

.

บริษัทสามารถที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นของพนักงานได้ ในกรณีที่เราพอจะมีงบประมาณในการนี้ อย่างน้อยก็ทำให้พนักงานเกิดความสะดวกในการมาทำงานมากขึ้น เพราะเราอาจจะสูญเสียคนเก่ง ๆ ไป เนื่องจากคนเหล่านี้ก็จะหางานใหม่ ที่มีเงินเดือนสูงกว่าเดิม ถ้าเขาเดือดร้อนจริง ๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากบริษัทเลย

.

Reference :

https://prakal.com/2022/06/30/%e0%b8%84%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%9e%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b8%87%e0%b8%82%e0%b8%b6%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%99/

Related Content :

 

Leave your thoughts

Optimistic HR Recruitment Co., Ltd.

27 Soi Somdejprachaotaksin 14
Bukkalo Thonburi 10600
TAX ID: 0105552066498

©2024 Copyright
All Right Reserved
[email protected]
092-991-6251
02-466-5688
www.optimistic.com | @optimistichr