Diversity & Inclusion…หลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้ ตอนที่ 1

Diversity & Inclusion…หลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้ ตอนที่ 1

คนเยอะ…เรื่องแยะ” คำพูดนี้ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นไปในทาง Negative ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อคนเยอะ ก็จะมีความหลากหลาย ความแตกต่าง เรื่องเยอะ ความคิดเห็นเยอะ ต้องตัดสินใจหรือตกลงกันด้วยความยากเย็น มากคน…มากความ แต่บางครั้ง ในหมู่คนจำนวนมากทีมีทั้งความหลากหลายและความแตกต่างปะปนกันอยู่ อาจเป็นประโยชน์กับองค์กรและการทำงานได้เช่นกัน

.

ความหลากหลายในองค์กรมีหลายรูปแบบ หลัก ๆ แล้วก็จะเป็นเรื่อง ความแตกต่างด้านตำแหน่งงาน ที่พนักงานแต่ละคนจะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละส่วนงาน และยังเป็นความแตกต่างกันในระบบโครงสร้างองค์กรนั่นคือ ลำดับขั้น ซึ่งในส่วนนี้จะมีข้อดีต่อองค์กรอย่างเห็นได้ชัด คือ พนักงานมีความกระตือรือร้นและขวนขวายในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานที่สูงขึ้น เมื่อเห็นเพื่อนร่วมงานหรือพนักงานที่มีตำแหน่งต่ำกว่ากำลังได้รับการเลื่อนขั้น แรงขับเคลื่อนในการทำงานก็มากขึ้นกว่าตอนไหน ๆ เลยหละค่ะ

.

ความหลายหลายด้านอายุ

เชื่อว่าผู้อ่านแทบทุกคนต้องเคยเจอมา ช่วงอายุ 20 ต้น ๆ ที่เริ่มชีวิตการทำงานที่แรก กลายเป็นคนที่มีอายุน้อยที่สุดในองค์กร หัวหน้าแทบจะอายุเท่าแม่เราด้วยซ้ำ เพื่อนร่วมงานก็วัย 28-40 เหมือนจะคุยกันเข้าใจแต่ก็ยังมี Gap หรือช่องว่างของช่วงวัยอยู่ดี มิหนำซ้ำ ความหลากหลายด้านอายุยังทำให้ความคิด ข้อเสนอแนะของเราในที่ประชุมนั้น ยังถูกเมินและถูกปัดตกไปเสมอ ๆ บ่อยครั้งเข้าจะทำให้ไม่อยากเสนอความคิดเห็นอะไรกลายเป็นคนไม่มีส่วนร่วมกับองค์กรไปอีก… แต่ถ้าคุณโชคดี เจอองค์กรที่เปิดกว้างแล้วหละก็ ความเฟรช ความสดใหม่ของคุณ คือแหล่งความคิดชั้นยอดขององค์กร พวกเขาจะให้ความสำคัญกับความคิดจากพนักงานรุ่นใหม่ เพราะเชื่อว่าความคิดจากวัยที่แตกต่างกันนั้น อาจะมีข้อดีแฝงอยู่และกลายเป็นประโยชน์ต่อองค์กรก็เป็นได้ แนวทางเดิม ๆ เก่า ๆ ของคนที่อยู่มานานเหมือนจะล้าสมัยใช้การไม่ได้แล้ว หากนำวิธีใหม่ ๆ จากความคิดสร้างสรรค์ของคนวัยหนุ่มสาวเข้าไปประยุต์ใช้ อาจกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่นำพาองค์กรประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

.

ความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

หากย้อนกลับไปในยุคที่เทคโนโลยียังเป็นสิ่งใหม่ การทำงานของคนในองค์กรนั้นเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ทำงานร่วมกันภายในท้องถิ่น ชุมชน ในเมืองเดียวกัน หรือใหญ่สุดก็ระดับภูมิภาค แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีถูกพัฒนาจนกลายเป็นโลกไร้พรมแดน ทุกคนจากทุกพื้นที่บนโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยเทคโนโลยี ทำธุรกิจแบบข้ามพรมแดนจากโลกตะวันตกไปยังตะวันออก องค์กรบางแห่งจำเป็นต้องขยายกิจการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และมีการเปิดรับคนจากภูมิภาคนั้น ๆ เข้ามาทำงาน ทำให้เกิดความหลายหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมขึ้นในองค์กร วัฒนธรรมที่ต่างกันถูกแสดงออกมาในสังคมที่อยู่ร่วมกัน ข้อเสียก็มี แต่ข้อดีก็เยอะ ถึงแม้จะไม่เข้าใจในวัฒนธรรมความคิดของชนชาติที่ไม่ใช่ของตัวเองไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วการอยู่ร่วมกันในสังคมก็จะต้องปรับตัวและทำความเข้าใจให้อยู่ร่วมกันได้และเคารพซึ่งกันและกัน ในแง่มุมของศาสนา องค์กรบางแห่งจัดเตรียมห้องละหมาดสำหรับพนักงานที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกเท่านั้น แต่ยังเป็นการเคารพในวิถีปฏิบัติของพวกเขาอีกด้วย และมีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่อนุญาตให้พนักงานลาหยุดวันตรุษจีนโดยไม่เสียวันลาเพื่อกลับบ้านไปไหว้บรรพบุรุษ ถือเป็นเทศกาลสำคัญของคนเชื้อสายจีน

.

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในองค์กรยังมีข้อดีและเป็นข้อดีที่สำคัญของโลกธุรกิจ เมื่อมีความหลากหลายย่อมมีความแตกต่าง ความชอบ รสนิยม ค่านิยมที่ต่างกัน การที่องค์กรมีพนักงานที่มีความหลากหลายอาจะทำให้เข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคหรือลูกค้าในภูมิภาคนั้น ๆ และสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดไปได้อย่างง่ายดาย เช่น ร้านอาหาร Fast Food ชื่อดังหลายแบรนด์ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ทีมกลยุทธ์และทีม R&D ของประเทศนั้น ๆ มักจะคิดค้นและนำเสนอเมนูที่ประยุกต์วัตถุดิบหลักให้เข้ากับอาหารท้องถิ่นของพวกเขาออกมา คนท้องถิ่นทานง่าย นักท่องเที่ยวชื่นชอบ ได้ใจผู้บริโภคไปเต็ม ๆ

.

และมาถึงความหลากหลายในองค์กรที่เป็นส่วนสำคัญของบทความนี้ ก็คือ ความหลากหลายทางเพศ นั่นเอง

ช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ามีกระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับชาว LGBTQ+ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการยอมรับจากสังคมทียังไม่คนบางกลุ่มเหยียดเพศและพยายามต่อต้านเพศทางเลือก หรือแม้แต่คนในครอบครัวเองที่มองว่าลูกหลานมีความผิดปกติทางจิต พาไปพบหมอจิตเวชหรือหนักสุดคือพาไปทำพิธีทางไสยศาสตร์เพราะเชื่อว่าคนที่มีจิตใจไม่ตรงตามเพศสภาพนั้นเป็นเพราะถูกผีสิง การเรียกร้องด้านกฎหมายเรื่องการสมรสในเพศเดียวกัน ถึงแม้บางประเทศจะเปิดรับข้อกฎหมายนี้และอนุญาตให้เพศเดียวกันสมรสกันได้แล้ว แต่ยังมีประเทศจำนวนไม่น้อย (เช่น ประเทศไทย) ที่ยังไม่อนุญาตให้เพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ นั่นหมายถึงสิทธิ์ที่ต่างฝ่ายจะได้รับจากการสมรสนั่นยังไม่มีอีกด้วย เช่น สิทธิ์การตัดสินใจในการยินยอมรักษาทางการแพทย์ของคู่รักในขณะที่คู่สมรสทำได้ ไม่มีสิทธิ์รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงในขณะที่คู่สมรสทำได้ สิทธิ์ในการใช้สวัสดิการรัฐของคู่สมรสก็ทำไม่ได้ หรือแม้แต่อยากเปลี่ยนมาใช้นามสกุลเดียวกับอีกฝ่ายก็ทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถสมรสกันได้

.

และไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ยังคงถกเถียงเรื่องนี้อยู่ แต่บางประเทศที่พัฒนาแล้ว เทคโนโลยีก้าวล้ำกว่าไทยมาก ไม่เพียงแต่ไม่ให้ความสำคัญ แต่ถึงขั้นปิดกั้นไม่ยอมรับกันเลยทีเดียว LGBTQ+ ในประเทศเหล่านั้นต้องใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่สามารถแสดงออกอะไรได้เลยเพราะนั่นหมายถึง สถานะทางสังคม หน้าที่การงาน และอนาคตที่สดใสอาจหายไป บางองค์กรในประเทศเหล่านั้นปฏิเสธรับคนข้ามเพศหรือ LGBTQ+ เข้าทำงานเลยก็มี หรือแม้แต่บางองค์กรที่มีพนักงาน LGBTQ+ ทำงานอยู่ แต่พนักงานเหล่านั้นยังคงถูกเลือกปฏิบัติจากคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน และเจ้านาย บางคนถูกคุกคามจากกลุ่มที่ไม่เปิดรับชาว LGBTQ+ เป็นเรื่องราวใหญ่โต

.

ดังนั้นกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมให้ LGBTQ+ ในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมานั้นมาแรงมาก องค์กรระดับโลกมักกล่าวถึงเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศในทุกครั้งที่มีการประชุมใหญ่ Town-Hall หรือจัด Training Session มาโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดการยอมรับอย่างไม่มีอคติ นำไปสู่ D&I “Diversity & Inclusion หลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้”

.

ในเดือนมิถุนายนของทุกปี จะถูกกำหนดให้เป็น “Pride Month” หรือ เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ” องค์กรต่าง ๆ ร่วมกันจัดกิจกรรมหรือแคมเปญเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและสนับสนุนในชาว LGBTQ+ เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตนเอง ถึงแม้การเรียกร้องจะไม่เป็นผลกับกฎหมายบางข้อมากนัก แต่องค์กรหลายแห่งทั้งในไทยและต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิ์ที่ชาว LGBTQ+ ควรได้รับให้เท่าเทียมกับพนักงานชายและหญิง เช่น ลาเพื่อดูแลบุตร ลาเพื่อสมรส หรือลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศก็มี ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเปลี่ยนโลกนี้ให้ทุกเพศเท่าเทียมกัน ยอมรับและเปิดใจให้ความหลากหลายและความแตกต่าง

.

สำหรับบทความ Diversity & Inclusion…หลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้ ในตอนที่ 2 เราจะมากล่าวถึงเรื่อง “LGBTQ+…พลังคลื่นใหม่ขององค์กร” LGBTQ+ ต้องเจออะไรบ้างจากการทำงานในองค์กร รับมือกับความหลากหลายและแตกต่างนี้อย่างไร รวมถึงโอกาสและความสำเร็จในหน้าที่การงานของชาว LGBTQ+ ติดตามอ่านกันด้วยนะคะ 😊

.

References :

https://th.hrnote.asia/personnel-management/190820-workforce-diversity/

Related Content :

Leave your thoughts

Optimistic HR Recruitment Co., Ltd.

27 Soi Somdejprachaotaksin 14
Bukkalo Thonburi 10600
TAX ID: 0105552066498

©2024 Copyright
All Right Reserved
thanatorn@optimistichr.com
092-991-6251
02-466-5688
www.optimistic.com | @optimistichr