ประกันสังคม…เรื่องที่เด็กจบใหม่(และผู้ใหญ่)ต้องรู้

ประกันสังคมเรื่องที่เด็กจบใหม่(และผู้ใหญ่)ต้องรู้

ประกันสังคมคืออะไร ทำไมต้องจ่าย? จ่ายแล้วได้อะไรบ้าง? เรื่องที่เด็กจบใหม่หลายคนอาจยังไม่รู้ (อย่าว่าแต่เด็กจบใหม่เลย ผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่รู้) 😂

.

ประกันสังคม หรือ กองทุนประกันสังคม ช่องทางเลือกสำหรับสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตเพื่อสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ เสียชีวิต หรือแม้แต่การคลอดบุตร และสงเคราะห์บุตร รวมถึงเมื่อสมาชิกว่างงาน ก็จะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

.

คนทำงานประจำในบริษัทหลายคนรู้เพียงแค่ว่า บริษัทจะหักเงินเข้าประกันสังคมจากเงินเดือนของเราในทุก ๆ เดือน แต่รู้หรือไม่ว่า เงินที่เราจ่ายไป 750 บาทต่อเดือน เราได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง แล้วถ้าเราไม่ได้เป็นพนักงานประจำในบริษัท เราสามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมได้หรือไม่?

.

กองทุนประกันสังคม แบ่งผู้ประกันตนได้ 3 ประเภท

  1. พนักงานเอกชนทั่วไป (มาตรา 33)
  2. เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก (มาตรา 39)
  3. แรงงานนอกระบบ / อาชีพอิสระ (มาตรา 40)

ผู้ประกันตนแต่ละประเภทมีอัตราการจ่ายเงินแตกต่างกัน และจะได้สิทธิ์และความคุ้มครองต่างกัน

.

ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33)

ผู้ประกันตนในกลุ่มนี้ คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนลูกจ้าง 5%  + นายจ้าง 5% + รัฐบาล 2.75% ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (หมายความว่า เงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาท/เดือนเท่านั้น) โดยนายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการให้
.

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) จะได้รับความคุ้มครอง มีดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

.

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39)

ผู้ประกันตนตามมาตรานี้ คือ บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออกจากงาน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน

.

เงื่อนไข
ต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน ต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432  บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ

.

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 40)

ผู้ประกันตนในมาตรา 40 นี้ คือ บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ผู้ที่จะสมัครประกันสังคมในมาตรา 40 ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ 

ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ(รับบำเหน็จ)

ทางเลือกที่ 3 (ทางเลือกใหม่: ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ(รับบำเหน็จ) และสงเคราะห์บุตร

.

การเข้าเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ได้มีให้เฉพาะคนที่มีงานประจำทำเท่านั้น เมื่อออกจากงานก็ยังสามารถส่งเงินสมทบเป็นผู้ประกันตนได้อยู่ หรือคนที่ประกอบอาชีพอิสระก็สามารถส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ได้ เพียงเลือกเข้ากองทุนให้ถูกประเภท หากมองว่าประกันสังคมเป็นส่วนที่ไม่ควรค่าแก่การจ่าย คิดผิดมหันต์เลยค่ะ เพราะสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับนั้นเรียกได้ว่าคุ้มค่ากับการจ่ายแน่นอน รับการรักษาพยาบาล ค่าทันตกรรมก็เบิกได้ และยังสิทธิประโยชน์อีกมากมาย

.

References :

https://www.bangkokbiznews.com/social/890507

https://www.finnomena.com/planet46/social-security-privileges/

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97/

Related Content :

Leave your thoughts

Optimistic HR Recruitment Co., Ltd.

27 Soi Somdejprachaotaksin 14
Bukkalo Thonburi 10600
TAX ID: 0105552066498

©2024 Copyright
All Right Reserved
[email protected]
092-991-6251
02-466-5688
www.optimistic.com | @optimistichr