Monday Blue…ทำไมเราเกลียดวันจันทร์

Monday Blue…ทำไมเราเกลียดวันจันทร์

ถ้าตั้งคำถามว่า “ในบรรดาวันทำงาน จันทร์-ศุกร์ คุณชอบวันไหนมากที่สุด” คำตอบส่วนใหญ่คงเป็น ‘วันศุกร์’ เพราะเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่จะต้องทำงานและได้หยุดในวันเสาร์-อาทิตย์ แถมตอนค่ำคืนของวันศุกร์ยังมีการพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เพื่อคลายความเครียดที่สะสมมาตลอดทั้งสัปดาห์ บางคนอาจจะชอบ ‘วันพุธ’ ที่ได้ดูหนังลดราคาหลังเลิกงาน และช็อปต่อในห้างกับดีลวันพุธสุดคุ้ม Saleกันทุกวันพุธไปเลย แต่ ‘วันพฤหัสฯ’ ก็ไม่ได้แย่นะ เพราะเป็นวันที่ใกล้วันศุกร์แล้ว อาจจะต้องรีบเคลียร์งานเพื่อให้วันศุกร์ของเรานั้น ว่าง ๆ บ้าง แต่ก็ยังแฮปปี้อยู่ดี แค่คิดว่าพรุ่งนี้วันศุกร์ก็ฟินแล้ว

.

แล้วถ้าถามว่า “คุณไม่ชอบวันไหนมากที่สุด” คำตอบที่ถูกตอบอกมาโดยไม่ต้องคิดเลย ก็คือ ‘วันจันทร์’ เสียงส่วนใหญ่ต้องบอกว่าเป็นวันนี้อย่างแน่นอน เพราะอะไรหนะหรอ… ก็เพราะว่ามันเป็นวันแรกของสัปดาห์การทำงานยังไงหละ จริง ๆ จิตใจก็เริ่มห่อเหี่ยวตั้งแต่คืนวันอาทิตย์แล้ว แต่ ‘วันจันทร์’ คือของจริง!!! ทั้งงานเก่าที่ต้องรีบเคลียร์ งานใหม่ที่กำลังจะเข้ามา แถมประชุม ประชุม ประชุมมมมมม ทั้งวัน (เผลอ ๆ ประชุมเช้าไม่ทันด้วย เพราะรถติดมาก) เห้อ… เหลือเวลาทำงานกี่ชั่วโมงเอ่ย? ความวุ่นวายนี้อาจจะส่งผลไปถึง ‘วันอังคาร’ เลยก็ได้นะ ใครงานยุ่ง ๆ ต้องบริหารเวลาให้ดี

.

แปลกไหม ถ้าเรา ‘เกลียดวันจันทร์’

ไม่แปลกหรอกค่ะ ถ้าเราจะ ‘ไม่ชอบวันจันทร์’ หรือ เข้าขั้น ’เกลียด’ เลยก็ได้ เพราะเป็นอาการปกติของคนวัยทำงานที่จะรู้สึกว่า เสาร์-อาทิตย์ยังพักผ่อนไม่เพียงพอเลย ‘พรุ่งนี้วันจันทร์’ ต้องไปทำงานอีกแล้ว ความเครียดที่สะสมมาจากสัปดาห์ก่อนยังคงติดค้างอยู่ในหัว เช้าวันจันทร์น่ากลัวเกินกว่าจะไปทำงาน เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า ‘Monday Blue’ ที่เหล่าคนทำงานทั่วโลกอาจเผชิญอยู่ ซึ่ง Monday คือ วันจันทร์ ส่วน Blue ในที่นี้ไม่ใช่ สีฟ้า แต่หมายถึง ความรู้สึกเศร้าใจ หดหู่ใจนั่นเอง

.

ผลกระทบจาก ‘Monday Blue’ คือ เราจะทำงานอย่างไม่มีความสุข ขาดความกระตือรือร้น ชีวิตไม่สดใส หดหู่ คิดอะไรไม่ออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน ไอเดียใหม่ ๆ จะถูกรบกวนจากความเครียด หัวตื้อไปทั้งวัน บางทีอาจจะพาลหงุดหงิดใส่เพื่อนร่วมงาน  เป็นปัญหาบานปลายได้

.

แล้วเราจะรับมือหรือจัดการกับภาวะนี้อย่างไร ?
อยากแรกที่ควรทำเลยคือ ‘วางแผนจัดการกับเวลา’

ควรทำ To-Do-List และวางแผนล่วงหน้า มีสิ่งใดที่ยังทำไม่เสร็จ สิ่งใดที่ต้องทำใหม่ และจัดสรรเวลาสำหรับรับมือกับงานด่วนที่จะเข้ามาแทรกด้วย จัดลำดับความสำคัญของงานและจัดสรรเวลาที่มีให้เป็นระบบ จะช่วยลดปัญหาความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นได้ ยิ่งถ้าคุณสามารถจัดการแผนเหล่านี้ได้คร่าว ๆ ตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ก็อาจทำให้ ‘วันจันทร์’ นั้นราบรื่นกว่าที่เคย

.

‘นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ’

การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกาย โดยเฉพาะ ‘การนอน’ จะช่วย Boost ร่างกายให้กระปรี้กระเป่ามากขึ้น ยิ่งในคืนวันอาทิตย์ จงรีบเข้านอนและตื่นมาในตอนเช้าอย่างสดใส พร้อมทำงานในสัปดาห์ใหม่ และลองปรับเวลาตื่นนอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิมสักหน่อย จะได้มีเวลาจัดการกับตัวเองและการเดินทางไปทำงานมากขึ้น เพราะความเครียดในเช้าวันจันทร์อาจเกิดจากปัญหาการจราจรได้เช่นกัน ถ้ามีเวลามากขึ้น ไปทำงานแบบชิล ๆ น่าจะลดความเครียดไปได้ส่วนหนึ่งเลยค่ะ

.

‘กิจกรรมในวันหยุด’

ลองทำกิจกรรมที่คุณชอบในวันหยุดสุดสัปดาห์สิคะ วันที่ควรค่าแก่การทำอะไรที่อยากทำ อะไรก็ได้ที่คุณทำแล้วจะไม่บ่นว่า “เหนื่อย…” จะอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร ออกไปคาเฟ่ Shopping ขับรถเล่น หรือถ้าติดวันหยุดยาวก็จัดทริปสัมผัสธรรมชาติใกล้ ๆ กรุงเทพ กิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายจากงานได้ และยังมีความสุขกับกิจกรรมที่คุณชอบด้วย แม้แต่ ‘การนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน’ ก็เป็นกิจกรรมสุดโปรดของใครหลายคนนะ 😊

.

‘บรรยากาศบนโต๊ะทำงาน’ ก็สำคัญ

โต๊ะทำงานที่รก งานกองเต็มโต๊ะ ข้าวของกระจัดกระจาย ใครหละจะอยากนั่งทำงาน เห็นทุกวันยิ่งหดหู่….จัดระเบียบโต๊ะใหม่เลยค่ะ สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณ ‘อยาก หรือ ไม่อยากทำงาน’ ลองหาต้นไม้ต้นน้อยมาวางเพิ่มความสดชื่น หาตุ๊กตาน่ารัก ๆ มาวาง จัดเอกสารให้เป็นระเบียบ จัดเครื่องเขียนให้เรียบร้อย เพิ่มพื้นที่บนโต๊ะให้สะอาดตามากขึ้นจะมีผลต่อการทำงานอย่างน่าเหลือเชื่อเลยค่ะ (แต่ถ้าใครจัดระเบียบโต๊ะแล้วงานยังกองเยอะแยะไปหมด คงต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่างานเยอะจริง ๆ หรือเราทำไม่ทันเองหรือเปล่า ฮ่า ๆ )

.

‘ทำงานให้เสร็จ’

การพักผ่อนหลังเลิกงานไม่สำคัญน้อยไปกว่าการพักผ่อนในวันเสาร์-อาทิตย์ จะดีกว่าไหม ถ้าคุณทำงานเสร็จตามกำหนดในทุก ๆ วัน หรือ ค้างงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยิ่งแย่ไปกว่า ถ้าจะต้องเอางานค้างมาทำในวันหยุดที่ควรจะได้พักผ่อนแบบเต็มเวลาด้วย ถ้าวันอาทิตย์ยังต้องยุ่งกับงานอยู่บ่อย ๆ ‘Monday Blue’ มาเยือนแน่นอนนนน

.

‘พบแพทย์’ ก็ไม่แย่นะ

คำแนะนำเหล่านี้ ใช้ไม่ได้ผลเสมอไปหรอก ถ้าความเครียดหรืออาการหดหู่ของคุณถึงขั้นต้องพบแพทย์แล้ว การพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เราป่วยทางกายเรายังต้องหาหมอ แล้วถ้าเราป่วยทางความคิดหรืออารมณ์ เราก็ควรต้องได้รับคำแนะนำจากผู้เชียวชาญสิ ความเครียดสะสมไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อาการผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นอาจเป็นกลไกของร่างกายที่ต้องแก้ไขด้วย ‘ยา’ ต้องพบแพทย์เท่านั้นค่ะ อย่ารอเวลาให้ผ่านไป สมัยนี้ใคร ๆ ก็พบจิตแพทย์กันค่ะ ดาราเซเลบระดับโลกยังพบจิตแพทย์กันเป็นว่าเล่นเลย ทุกอาชีพล้วนมีความเครียดค่ะ คุณหมอช่วยได้!!!

.

Reference :

https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C/

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1939195

https://thematter.co/brandedcontent/7-days-story/48990

Related Content :

Leave your thoughts

Optimistic HR Recruitment Co., Ltd.

27 Soi Somdejprachaotaksin 14
Bukkalo Thonburi 10600
TAX ID: 0105552066498

©2024 Copyright
All Right Reserved
[email protected]
092-991-6251
02-466-5688
www.optimistic.com | @optimistichr