คำนวณภาษี 2565 รายได้เท่าไหร่ต้องจ่ายภาษี พร้อมรายการลดหย่อนที่ควรรู้
ใครต้องเสียภาษีบ้าง ?
คำว่า “บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้” คือ ใครก็ตามที่ทำงานและมีรายได้ กรมสรรพากรกำหนดไว้ว่า หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี จะต้องทำการ “ยื่นแบบแสดงรายการภาษี” ไม่ว่ารายได้นั้นจะมาจากเงินเดือน รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน รายได้ที่เป็นปันผลจากการลงทุน ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร รายได้จากการรับจ๊อบเสริม หรือรายได้จากการทำธุรกิจต่าง ๆ โดยกำหนดการยื่นภาษีจะถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
– มนุษย์เงินเดือน (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91) ที่มีรายได้จากเงินเดือนเป็นหลัก จะยื่นแบบปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป
– เจ้าของกิจการหรือใครก็ตามที่มีรายได้หลักเป็นการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ (ภ.ง.ด.94) แบบนี้จะต้องยื่นภาษี 2 ครั้ง คือ ยื่นตอนกลางปีภายในเดือนกันยายนของทุกปี และช่วงท้ายปีก่อน 31 มีนาคม ของปีถัดไป เพื่อเป็นการสำรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
มีรายได้เท่าไหร่ถึงต้องจ่ายภาษี
หากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป จะต้องทำการ “ยื่นแบบแสดงรายการภาษี” ตามกฎหมาย โดยวิธีการคำนวณภาษีจะใช้สูตร
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
ซึ่งเงินได้สุทธิ คิดจากรายได้ที่คุณหาได้ทั้งหมดนำมารวมกัน และหักเอาค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ออก ส่วนอัตราภาษีที่ประเทศไทยเรียกเก็บจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ
คิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91) ซึ่งพนักงานออฟฟิศและผู้มีรายได้ประจำส่วนใหญ่ใช้วิธีคำนวณนี้
คิดอัตราภาษีแบบเหมา (ภ.ง.ด.94) สำหรับผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน หรือเงินได้ประเภทที่ 1
วิธีคิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ
โดยที่การจ่ายภาษี จะต้องจ่ายแบบขั้นบันได กล่าวคือ นำภาษีที่ต้องเสียในแต่ละขั้นรายได้มารวมกันเพื่อคำนวณเป็นภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเงินได้สุทธิ 750,000 บาท คุณต้องคำนวณภาษี คือ
(เงินได้สุทธิ – เพดานเงินได้สุทธิในขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
วิธีคิดอัตราภาษีแบบเหมา
จะใช้วิธีการคิดอัตราภาษีแบบเหมาก็ต่อเมื่อ คุณมีรายได้ทางอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนรวมกันมีมากกว่า 120,000 บาทขึ้นไป ให้คำนวนในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ตามสูตรนี้
(เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.005 = ภาษีแบบเหมา
ข้อควรระวังในการคิดวิธีคิดอัตราภาษีแบบเหมา
จะต้องคำนวณจากรายได้ทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนเท่านั้น
หากคำนวณแบบเหมาออกมาแล้ว มีภาษีที่ต้องเสียไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีที่เกิดขึ้นจากการคำนวณวิธีนี้
การเลือกจ่ายภาษีจากวิธีการคำนวณ
กรณีที่คุณมีรายได้จากทั้งเงินเดือน และยังมีรายได้ทางอื่นมากกว่า 120,000 บาท คุณจะต้องคำนวณภาษีจากทั้ง 2 วิธี และเมื่อได้ยอดภาษีที่ต้องเสียจากทั้ง 2 วิธีออกมาแล้ว ให้คุณเลือกจ่ายภาษีในยอดที่สูงกว่าตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
รายการลดหย่อนภาษี ปี 2565
ถ้าคำนวณภาษีจากรายได้อย่างเดียว ก็จะทำให้คุณต้องเสียภาษีเป็นเงินก้อนใหญ่ กรมสรรพากรจึงได้มีรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อนุญาตให้นำมาใช้ลดหย่อนภาษีหักออกจากรายได้ เหลือเป็นเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษี ซึ่งรายการลดหย่อนต่าง ๆ สามารถดูได้ตามหัวข้อ ดังนี้
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ
ค่าลดหย่อนคู่สมรส จำนวน 60,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ (ได้สูงสุด 1 คน)
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่จ่ายให้กับสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง รวมสูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท (ทั้งนี้การตั้งครรภ์ลูกแฝดจะนับว่าเป็นครรภ์เดียว) โดยสามีสามารถลดหย่อนภาษีในกรณีที่ภรรยาไม่มีเงินได้
ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท โดยจะต้องเป็นบุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม และบุตรมีอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือในกรณีที่บุตรอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป แต่มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ในกรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป สามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
o กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้ตามจำนวนบุตรจริง
o กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม: สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท สูงสุด 3 คน
o กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม: ให้ใช้สิทธิบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน และหากบุตรบุญธรรมเป็นคนที่ 4 จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่ถ้าบุตรบุญธรรมอยู่ในคนที่ 1-3 สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้
ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส จำนวนคนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน กล่าวคือ สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (และจะต้องไม่ใช่พ่อแม่บุญธรรม) โดยบิดามารดาจะต้องมาอายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้
ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพลภาพ จำนวนคนละ 60,000 บาท และผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และมีบัตรประจำตัวผู้พิการ รวมถึงจะต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะ
2. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
เงินประกันสังคม สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท (จากปกติ 9,000 บาท) เนื่องจากปี พ.ศ. 2565 มีการปรับลดอัตราเงินสะสมประกันสังคม
เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และถ้าหากมีการเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไข ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่จำเป็นต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป)
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยเงื่อนไขของค่าลดหย่อนประกันชีวิตคือ ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ต้องทำประกันกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Funds) เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สามารถนำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000บาท
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทเงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) สำหรับผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรือธุรกิจ Social Enterprise ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง นำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมาจากมาตรา 70 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองสามารถนำจำนวนเงินบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
โครงการช้อปดีมีคืน 2565 สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ตามที่จ่ายจริง โดยสินค้าและบริการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และสินค้าหมวดหนังสือ (รวมถึง E-Book)
ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด และอาคาร เป็นต้น สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ในแต่ละปีค่าลดหย่อนในกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะมีไม่เหมือนกัน เนื่องจากจะเปลี่ยนแปลงตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงนั้น ๆ ของรัฐบาล ดังนั้นขอให้หมั่นติดตามข่าวสารเรื่องภาษีและค่าลดหย่อนให้ดี เพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดใช้สิทธิลดหย่อนและมีเงินในกระเป๋าตอนปลายปีมากกว่าเดิม
References : https://th.jobsdb.com/th-th/articles/tax-calculation-2022/