สมองแล่นตอนดึก ทำงานกลางคืน นอนเช้า…อันตรายหรือไม่?

“ทำงานตอนกลางวัน หัวไม่แล่น คิดงานไม่ออก แต่พอตกกลางคืน ความคิดใหม่ ๆ ไอเดียเจ๋ง ๆ ไหลมาไม่หยุด”

เคยเป็นกันไหมคะ? แล้วมีผลกระทบกับสุขภาพหรือไม่? ควรปรับตัวอย่างไรให้งานออกมาดีแล้วสุขภาพไม่พังเสียก่อน มาอ่านบทความนี้กันค่ะ

.

ช่วงเวลาปกติที่บริษัททั่วไปกำหนดเป็นเวลาทำงาน ก็มักจะเป็นช่วงพระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตกดิน บางบริษัทเริ่มทำงานตั้งแต่ 7.00 น. บางบริษัทก็เริ่มทำงานกันช้าขึ้นไปจนถึง 10.00 น. ส่วนเวลาเลิกงานนั้น ก็นับไป 8-9 ชั่วโมง บางแห่งก็แบ่งกันเข้างานตามกะ แต่ก็มีบริษัทจำนวนไม่น้อย ใช้วิธีนับเวลาการทำงานแบบ Flexible Time นับแค่ชั่วโมงทำงานที่องค์กรกำหนดไว้ จะเริ่มทำตอนกี่โมง เลิกงานตอนไหน ขอแค่ทำงานครบชั่วโมงที่กำหนดก็เพียงพอ ยิ่งในช่วงหลังมานี้ หลายบริษัทจำเป็นต้องให้พนักงาน Work from Home หรือทำงานที่บ้าน เพราะสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น พนักงานหลาย ๆ คนเริ่มทำงานกันแบบไม่เป็นเวลา เข้างานตรงเวลา แต่ทำงานแล้วติดลม กว่าจะเลิกทำงานจริง ๆ ก็ปาเข้าไป 2-3 ทุ่ม โดยเฉพาะบางคนนั้น ยิ่งดึกยิ่งหัวแล่น สมองลื่นไหล คิดงานอะไรก็เป็นไปตามต้องการ พนักงานบางคนที่ทำงานแบบ Flexible Time ถึงขั้นเปลี่ยนเวลาทำงานมาเป็นช่วงกลางคืนอย่างเต็มรูปแบบกันเลยทีเดียว ทำแบบนี้แล้วดีหรือไม่?

.

อย่างที่หลายคนรู้สึกว่า เมื่อทำงานในตอนกลางคืน สมองจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าในตอนกลางวัน ความคิดสร้างสรรค์ถูกสมองผลิตออกมาเกิดเป็นงานใหม่ ๆ ไอเดียเจ๋ง ๆ นั่นอาจเป็นเพราะว่า

ตอนกลางคืนมีความเงียบ

บางครั้งสาเหตุที่ทำให้เราคิดงานไม่ออก เกิดจากสิ่งรบกวนรอบตัวที่ทำให้เราไม่มีสมาธิ เสียงจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น เสียงจากเพื่อนร่วมงาน เสียงจากการจราจรบริเวณสถานที่ทำงาน หรือเสียงโทรศัพท์ในออฟฟิศที่ดังตลอดทั้งวัน ผู้คนในที่ทำงานที่เดินไปมากันจนน่าเวียนหัว ก็อาจทำให้เสียสมาธิได้ “กำลังจะคิดออกอยู่แล้วเชียว…” แต่ดันมีเสียงจากบางสิ่งแทรกเข้ามาในหัวสะงั้น การทำงานในบรรยากาศเงียบ ๆ เช่น ในตอนกลางคืน จะช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น

เรื่องของจิตวิทยา

นอกจากสภาพแวดล้อมในเวลากลางคืนจะเงียบพอให้มีสมาธิแล้ว ยังเป็นเรื่องของหลักจิตวิทยาด้วย ในเวลากลางคืนจะเกิดการไหลของความคิดสร้างสรรค์ นักเขียนอย่าง Stephanie Meyer เคยกล่าวไว้ว่า เขาชอบเขียนงานตอนกลางคืนเพราะไม่มีสิ่งรบกวน เด็ก ๆ เข้านอนหมดแล้ว สิ่งเร้าที่จะดึงเขาออกมาจากสมาธินั้นมีน้อยมาก เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า งานของคนส่วนใหญ่มักเสร็จสิ้นในตอนเย็น เราจะมีเวลาหาแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่มีคุณค่าอื่น ๆ ในช่วงเวลาหลังจากนั้น เราจะไม่รู้สึกผิดที่จะเขียนงานในตอนกลางคืน ช่วงกลางคืนคือเวลาของเราแล้ว แสงไฟสลัวไม่สว่างเกินไป ความมืด และความเงียบ อากาศที่เย็นกว่าในตอนกลางวัน จะช่วยให้เราผ่อนคลายมากขึ้น

สารเคมีในสมอง

ในเวลาที่เราหลับ สมองบางส่วนจะทำงานน้อยลง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ แต่สมองซีกขวาของบางคนก็ทำงานแปลกไป สมองซีกขวาเป็นเหมือนศูนย์กลางควบคุมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง ตั้งแต่อารมณ์ สัญชาตญาณ ไปจนถึงรูปแบบของความฝัน ทำให้เมื่อถึงเวลากลางคืน สมองซีกขวาของคนกลุ่มนี้จะทำงานมากขึ้น เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขาถึงมีความคิดสร้างสรรค์ในเวลากลางคืนอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งในช่วงเวลากลางคืน ต่อมใต้สมองจะหลั่ง ‘โปรแลคติน’ (Prolactin) ออกมา ที่แม้จะเป็นฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำนมเป็นหลัก แต่ก็มีผลช่วยให้เรารู้สึกสงบได้ สามารถก่อเกิดเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ แปลกใหม่ และอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดได้เช่นกัน ดังคำกล่าวของ Vincent Van Gogh ที่ว่า “ฉันมักจะคิดว่าเวลากลางคืนมีชีวิตชีวาและมีสีสันสดใสกว่ากลางวัน”

.

ถึงแม้การสร้างสรรค์งานในเวลากลางคืนดูจะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่การ Switch เวลามาทำงานในตอนกลางคืนบ่อย ๆ นั้น ก็อาจะส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน

แก่! ก่อนวัย

เนื่องจากร่างกายไม่ได้พักผ่อนในช่วงเวลาที่หลั่งฮอร์โมนออกมาซ่อมแซมจุดที่เสื่อมโทรม ผิวพรรณเริ่มเหี่ยวย่น ริ้วรอยและตีนกาถามหา ใบหน้าหมองคล้ำโดยเฉพาะใต้ตา ยิ่งได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ยิ่งไปกันใหญ่ แถมสิวขึ้นง่ายอีกด้วย

อ้วน!!! ง่ายกว่าปกติ

จากการทดลองเกี่ยวกับการนอน พบว่า คนนอนดึก นอนน้อย มีแนวโน้มน้ำหนักขึ้นง่ายกว่าคนนอนเต็มอิ่มอยู่แล้ว เมื่อปรับเวลามาทำงานในตอนกลางคืน กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ยิ่งดึกยิ่งหิว ยิ่งทำงานไปด้วยยิ่งต้องกิน! แล้วจะไม่อ้วนได้ยังไงหละค้าาาาาาาาาา แล้วอีกไม่นาน ระบบย่อยจะเริ่มมีปัญหา เพราะการหลั่งฮอร์โมนในทางเดินอาหารจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป เดี๋ยวท้องผูก เดี๋ยวท้องเสีย หนัก ๆ หน่อยก็เป็นโรคกระเพาะ หรือ ถุงน้ำดีทำงานบกพร่อง เพราะช่วงเวลาที่จะหลั่งกรดไปย่อยอาหารนั้นผิดเพี้ยนไปหมด

อารมณ์เหวี่ยงวีนง่ายขึ้น

‘เมลาโทนิน’ (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากสมอง โดยสมองจะถูกกระตุ้นให้สร้างเมลาโทนินในเวลาที่ไม่มีแสงหรือมีแสงสว่างน้อย เมื่อถึงเวลากลางคืนสมองจะหลั่งเมลาโทนินออกมาสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วง แต่เมื่อเราเริ่มนอนดึก และตื่นตัวในเวลากลางคืนมากขึ้น ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินน้อยลง ส่งผลต่ออารมณ์ของเราด้วย หงุดหงิดง่ายเมื่อเจออะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ

เสี่ยงโรครุมเร้า พร้อมด้วยภาวะสมองเสื่อม

มีโอกาสจะต้องเผชิญกับโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการนอนดึก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดัน หรือมะเร็งลำไส้ เนื่องจากนาฬิกาชีวิตที่เปลี่ยนไป ระบบการทำงานของร่างกายก็จะถูกปรับตาม ร่างกายของบางคนปรับได้ แต่ถ้าร่างกายปรับไม่ไหว อาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด รวมถึง ‘โรคซึมเศร้า’ ภัยเงียบที่อาจะทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัว เพราะโรคซึมเศร้าเป็นผลมาจากการหลั่งสารในสมองที่ผิดปกติ ดังนั้นต้องคอยสังเกตความผิดปกติของตัวเองด้วยนะคะ

.

แล้วเราจะปรับตัวกับ ‘นิสัยชอบทำงานตอนกลางคืน’ ได้อย่างไร

หลัก ๆ แล้ว สาเหตุที่ใครหลายคนทำงานในตอนกลางวันได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็เพราะว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นดั่งใจ ดังนั้นลอง ‘ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัว’ จัดโต๊ะทำงานใหม่ ทำให้รอบข้างปลอดโปร่ง มีลมพัดผ่าน หรือหาต้นไม้มาวาง ก็ช่วยได้

.

เลี่ยง ‘คาเฟอีน’ ในช่วงเย็นของวัน คาเฟอีนในเครื่องดื่มอย่างชาและกาแฟ เป็นตัวการหนึ่งที่ขัดขวางการนอนหลับของเรา ต่อให้เราทำงานเสร็จเร็วและอยากจะนอนเร็วขึ้น แต่เจอฤทธิ์คาเฟอีนเข้าไป ก็คงยากที่จะข่มตานอน

.

นึกถึง ‘สุขภาพ’ ที่อาจะสูญเสียไปจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ การทำลายนาฬิกาชีวิตของตัวเอง ฝืนตัวเองให้ทำงานในตอนกลางวันให้ได้ ถึงแม้ความคิดจะเฉื่อยชาไปบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเวลาทำงานทั้งหมดในตอนกลางคืน ลองใช้การแบ่งเวลาทำงานเป็นช่วง ๆ ช่วงเช้าทำงานเบา ๆ และใช้เวลาช่วงเย็นถึงหัวค่ำ สร้างสรรค์งานที่ต้องใช้ความครีเอทีฟดูบ้าง จะได้พักผ่อนมากขึ้น สุขภาพดี หน้าเด็ก สดชื่น ไม่ฉุนเฉียวง่าย

.

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘มีวินัย’ กำหนดเวลาทำงานให้ชัดเจน สร้างนาฬิกาชีวิตของตัวเองบ้าง มี Deadline ในการทำงานก็ดี หรือจะยืดหยุ่นก็ได้ แต่ต้องไม่มากเกินไปจนเสียสมดุล นอกจากจะรักษาสุขภาพที่ดีเอาไว้ได้แล้ว ยังมีตารางเวลาที่เป็นระบบทำให้ชีวิตไม่วุ่นวาย และมีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้อีกด้วยค่ะ

.

References :

https://missiontothemoon.co/%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB/

https://shortrecap.co/culture/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99/

https://intrend.trueid.net/article/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B6%E0%B8%81-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99-trueidintrend_106365

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/november-2019/melatonin

Related Content :

 

 

 

 

 

 

Leave your thoughts

Optimistic HR Recruitment Co., Ltd.

27 Soi Somdejprachaotaksin 14
Bukkalo Thonburi 10600
TAX ID: 0105552066498

©2024 Copyright
All Right Reserved
[email protected]
092-991-6251
02-466-5688
www.optimistic.com | @optimistichr